วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมเลียนแบบส่งผลต่อคุณธรรมจริยธรรมในสังคม

                  ปัจจุบัน บ้าน วัด หรือโรงเรียนกลับกลายเป็นกลไกทางสังคมที่มีอิทธิพลน้อยลงต่อการหล่อหลอมคุณธรรมและจริยธรรม คนไทยปัจจุบันใช้เวลาในการเดินห้างหรือเข้าสถานบันเทิงมากกว่าเดินเข้าวัดหรือศึกษาธรรมทางศาสนา  ครอบครัวไทยเน้นการทำมาหากินมากกว่าการมองคุณค่าของชีวิตในเชิงคุณธรรมหรือจริยธรรม  ระบบการศึกษาไทยเน้นการเรียนรู้วิชาการเพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพมากกว่าความเข้าใจในคุณค่าหรือความหมายของชีวิต และคนไทยก็เรียนหนังสือเพราะต้องการใบเบิกทางไปสู่การทำมาหากินที่ดีกว่า ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีปัญหาเรื่องคุณธรรมมานานไม่มีใครสนใจอย่างจริงจัง และยังคงยึดติดกับความเชื่อที่ว่าคุณธรรมและจริยธรรมเกิดขึ้นได้เฉพาะจากการสอนสั่ง การพิมพ์หนังสือให้อ่านและการรณรงค์คำขวัญเพราะๆ และที่สำคัญเรายังคิดว่าคุณธรรมและจริยธรรมเกิดขึ้นได้เฉพาะใน บ้าน วัดและโรงเรียนเท่านั้น
          นายแพทย์อุดม     เพชรสังหาร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก ชี้ให้เห็นว่าคุณธรรมและจริยธรรมเกิดจากอิทธิพลการหล่อหลอมและเรียนรู้จากสังคม Socialization   นั้นก็คือสังคมทั้งหมดคือปัจจัยที่สำคัญที่หล่อหลอมคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดกับสมาชิกของสังคม โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ บ้าน วัดหรือโรงเรียน
          “ผมมีข้อมูลจากการศึกษาเด็กจำนวนมากเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี พบว่า เกมคอมพิวเตอร์และภาพยนตร์ที่เน้นความรุนแรงส่งผลให้เด็กอเมริกามีนิสัยก้าวร้าวขึ้น มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎระเบียบมากขึ้นรวมทั้งมีความรู้สึกว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงคือความถูกต้อง  สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลของสื่อหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเด็กมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในเด็กและเยาวชน ซึ่งภาพเช่นนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยเช่นกัน สื่อแทบทุกชนิดมีอิทธิพลเหนือกลไกทางสังคมดั้งเดิมที่มีอยู่   เรามีเกมคอมพิวเตอร์ทุกรูปแบบให้เด็กเราเล่น เรามีเว็บลามกที่เด็กทุกคนเข้าถึงได้ไม่ยากเย็น  เรามีรายการโทรทัศน์ที่มีฉากเต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งแบบเปิดเผยและซ้อนเร้น    เรามีมิวสิควีดีโอที่นำเสนอรูปร่างและความเซ็กซี่ของศิลปินมากกว่าสุนทรียภาพของบทเพลง  เรามีสื่อสิ่งพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องดาราหรือคนมีชื่อเสียงที่เน้นการใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรีในด้านต่างๆรวมทั้งเรื่องเพศที่เด็กและเยาวชนจำนวนมากติดตามกันงอมแงม     สิ่งเหล่านี้กลายเป็นกลไกที่มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชนของเรามากกว่า บ้าน วัดและโรงเรียน   ดั้งนั้นการแก้ปัญหาเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมโดยไม่คำนึงถึงและจัดการกับปัจจัยเหล่านี้อย่างจริงจัง จึงมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ”
          นพ.อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ไม่นานมานี้ มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพาร์มา ประเทศอิตาลี Dr.Villorio Gallese และ Dr.Giacomo Rizzlattiได้ค้นพบกลุ่มเซลล์กลุ่มหนึ่งในสมองของลิงโดยบังเอิญ เขาตั้งชื่อมันว่า “เซลล์กระจกเงา” (Mirror Neuron) พบโดยการทดลองให้ลิงสังเกตท่าทางของมนุษย์ เพื่อดูว่าเมื่อลิงทำเลียนแบบท่าทางของมนุษย์ เซลล์ในสมองของลิงส่วนไหนบ้างที่จะทำงาน แต่เรากลับพบว่า แม้ลิงจะไม่ได้เคลื่อนไหวหรือเลียนแบบท่าทางของมนุษย์เลย เพียงแต่แค่มันนั่งมองเฉยๆ เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของอวัยวะ ซึ่งสอดคล้องกับท่าทางของมนุษย์ก็ยังคงทำงานอยู่ ราวกับว่าลิงตัวนั้นได้เคลื่อนไหวเพื่อเลียนแบบกิริยาของมนุษย์ เขาเลยตั้งชื่อมันว่า “เซลล์กระจกเงา” หรือ Mirror Neuron เพราะมันสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวทุกอย่างของมนุษย์เข้าไป ราวกับว่ามันได้ทำตัวเป็นกระจกเงาเพื่อสะท้อนภาพที่มองเห็น
          การค้นพบครั้งนี้นำไปสู่ความสงสัยว่า ในมนุษย์จะมีปฏิกิริยาแบบนี้หรือไม่ จึงมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมกัน มากมายทั้งในยุโรปและอเมริกา แล้วก็พบว่าเซลล์แบบนี้มีในสมองของมนุษย์ เซลล์เหล่านี้นี่แหละ คือต้นเหตุที่ทำให้มนุษย์ที่เกิดมาแล้วมีบุคลิก หรือนิสัยใจคอเหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคม แล้วซึมซับเข้าไปเพื่อหล่อหลอมให้คนเป็นแบบนั้นแบบนี้ ตามแต่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราจะกำหนด เซลล์เหล่านี้ คือสิ่งที่ช่วยอธิบายทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกของมนุษย์ที่เราใช้อยู่เกือบทุกทฤษฎี ให้มีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้นไปอีก หรือหากจะกล่าวสั้นๆ ก็คือ “สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรเซลล์กระจกเงาก็จะทำหน้าที่หล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นไปตามที่สิ่งแวดล้อมกำหนด” นั่นเอง
          ในขณะที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เต็มไปด้วยความเลวร้ายที่กระตุ้นให้เซลล์กระจกเงาของพวกเขาซึมซับเข้าไปอยู่ตลอดเวลาโดยเราลืมไปว่า สมองของเด็กในส่วนตัดสินผิดชอบชั่วดี การใช้เหตุผล ยังไม่เติบโตพอที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่ สมองของเด็กจะทำงานด้วยอารมณ์และความรู้สึกเป็นหลัก อะไรสนุกๆ อะไรที่ประทับใจ เซลล์กระจกเงาก็จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นเข้าไป การสอนด้วยเหตุผลอย่างเดียวจึงไม่ได้ผล ต้องสอนด้วยสิ่งที่สามารถเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกได้
          การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ทำให้เรารับรู้ว่า   “แบบอย่าง”   ต่างหากคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการหล่อหลอม คุณธรรม จริยธรรม หรือพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมกับเด็ก เยาวชนหรือผู้คนในสังคม ถ้าไม่มีแบบให้เห็นเซลล์กระจกก็ไม่มีแบบให้ลอกเลียน หรือหากมีแบบไม่ดีเซลล์กระจกเงาก็จะลอกเลียนแบบที่ไม่ดี  ดังนั้นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมหัวใจที่สำคัญจึงอยู่ที่การมีแบบอย่างที่ดีมากพอ
          เมื่อกลับมามองที่สังคมไทยปัญหาคุณธรรมของสังคมไทยจึงเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะสิ่งแวดล้อมทางสังคมไทยเป็นแบบอย่างไปในทางที่ไม่ดี การแก้ไขโดยเพียงแค่อาศัยกลไก บ้าน วัด  โรงเรียน ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้   จำเป็นต้องอาศัยกลไกทั้งหมดที่มีอยู่ของสังคมเข้ามาช่วยกันมองและช่วยกันแก้ไข ส่งเสริมแบบอย่างที่ดี ขจัดแบบอย่างในทางเสื่อมให้หมดไปนั้นแหละเราจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น